สมาพันธรัฐสวิสหรือสวิตเซอร์แลนด์ตั้งอยู่ใจกลางทวีปยุโรป ล้อมรอบด้วยประเทศสมาชิกสหภาพ ยุโรป ซึ่งสวิตเซอร์แลนด์ไม่ได้เป็นสมาชิก แต่มีความสัมพันธ์ / ประวัติศาสตร์ / วัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน / ยาวนาน และแน่นแฟ้นอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ที่เกื้อหนุนกันในทุกด้าน ดังนั้น ความสัมพันธ์สวิตเซอร์แลนด์-สหภาพยุโรปเป็นอย่างไร บทบาทและท่าทีของสวิตเซอร์แลนด์ต่อสหภาพยุโรปเป็นอย่างไร และในทางกลับกันสหภาพยุโรปมีนโนบายและยุทธศาสตร์อย่างไรต่อสวิตเซอร์แลนด์ นาย Ulrich Trautmann เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับความสัมพันธ์สหภาพยุโรปกับสวิตเซอร์แลนด์ ของคณะกรรมธิการยุโรปด้านต่างประเทศ ได้ให้สัมภาษณ์แก่คณะผู้แทนไทยประจำประชาคมยุโรปและเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น ดังนี้ ภาพรวม/ภูมิหลัง สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีความใกล้ชิดมากที่สุดของสหภาพยุโรป ความสัมพันธ์ระหว่างสวิตเซอร์แลนด์และสหภาพยุโรปนั้นยาวนานและแนบแน่น นับย้อนไปได้ตั้งแต่ความตกลงดั้งเดิมระหว่าง European Coal and Steel Community กับ Swiss Confederation ในปี 1957 สวิตเซอร์แลนด์เป็นคู่ค้าสำคัญอันดับต้น ๆ ของสหภาพยุโรป ประชากรของสหภาพยุโรป กว่า 800,000 คนพำนักอาศัยและทำงานในสวิตเซอร์แลนด์ การเดินทางผ่านข้ามพรมแดนระหว่างสองฝ่ายนั้นเกิดขึ้นเป็นประจำและต่อเนื่อง โครงสร้างทางการเมืองในระบบสมาพันธรัฐของสวิสเป็นรูปแบบสำหรับโครงสร้างของ European Union (EU) นอกจากนั้น ในด้านเศรษฐกิจ สวิตเซอร์แลนด์ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์อยู่ในใจกลางของ EU Production Belt จาก Amsterdam / Rotterdam / Stuttgart / Frankfurt / Basel / Milan / Rome / London อีกด้วย
ในปี 1972 European Free Trade Association (EFTA) ระหว่าง ไอซ์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ นอร์เวย์ และสวิตเซอร์แลนด์ ได้ถูกตั้งขึ้น และถือเป็นเวทีการค้าระหว่างประชาคมยุโรป (สหภาพยุโรป) กับสวิตฯ
ในปี 1992 สวิตเซอร์แลนด์ขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกประชาคมยุโรป หรือ European Community (ซึ่งหลังจากปี 1992 ตาม Treaty of the European Union ประชาคมยุโรปเปลี่ยนชื่อเป็นสหภาพ ยุโรป หรือ European Union) อย่างไรก็ดี ในปีเดียวกันนั้น ประชาชนสวิสลงประชามติปฏิเสธการลงนามความตกลง EEA (European Economic Area) ระหว่างสวิตเซอร์แลนด์และสหภาพยุโรป (ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ใน EFTA ได้ลงนามความตกลงดังกล่าวกับสหภาพยุโรป) ส่งผลให้ตั้งแต่นั้นมาสวิตเซอร์แลนด์มุ่งดำเนินความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรปบนพื้นฐานของการดำเนินความตกลงทวิภาคีแบบเป็นรายสาขา รัฐบาลสวิสจึงตัดสินใจระงับการสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป นับตั้งแต่นั้นมา และส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างสวิตฯ สหภาพยุโรป และประเทศ EEA อื่น ๆ ได้แก่ ไอซ์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ และนอร์เวย์ มีลักษณะแบบสามฝ่าย Triangular และมีความซับซ้อนยิ่งขึ้น ความตกลงสหภาพยุโรป-สวิตเซอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์นับเป็นประเทศที่มีความตกลงกับสหภาพยุโรปมากที่สุดในบรรดาความตกลงที่สหภาพยุโรปมีกับประเทศที่สาม ความตกลงฉบับแรกระหว่าง European Coal and Steel Community กับ Swiss Confederation เริ่มมีตั้งแต่ปี 1957 (ดูรายชื่อความตกลงทั้งหมดได้ที่ http://europa.eu.int/comm/external_relations/switzerland/doc/bilat.htm) เพื่อลดความซับซ้อนและผลกระทบจากการที่สวิตเซอร์แลนด์มิได้ลงนามความตกลง EEA ดังกล่าวข้างต้น ในปี 1994 สวิตเซอร์แลนด์และสหภาพยุโรปได้เริ่มการเจรจาความตกลงทวิภาคีเป็นรายสาขาใน 7 สาขาหลักได้แก่ Free Movement of Persons, Trade in Agricultural Products, Public Procurement, Conformity Assessments, Air Transport, Transport by Road and Rail, Swiss Participation in the 5th Framework Programme for Research โดยการเจรจาสำเร็จลุล่วงและได้มีการลงนามความตกลงดังกล่าวในปี 1999 ได้รับการลงประชามติเห็นชอบจากประชาชนสวิส ในปี 2000 และประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปได้ให้สัตยบันความตกลงดังกล่าวและเริ่มใช้อย่างเป็นทางการในปี 2002 ความตกลงในปี 1999 ดังกล่าวนับเป็นพื้นฐานของการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพ ยุโรปและสวิตเซอร์แลนด์ตั้งแต่นั้นมา
ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน มีการแก้ไขความตกลง EFTA เรียกว่า Vaduz Agreement ในปี 2001 เพื่อให้พัฒนาไปควบคู่กับการความตกลงทวิภาคีปี 1999 ระหว่างสหภาพยุโรป-สวิตเซอร์แลนด์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการค้า ความตกลงดังกล่าวเป็นการเสริมสร้างให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ EFTA แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นและสอดคล้องกับความตกลงที่สวิตเซอร์แลนด์เริ่มใช้กับสหภาพ ยุโรป
เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2004 สหภาพยุโรปและสวิตเซอร์แลนด์ได้จัดทำความตกลงทวิภาคีฉบับที่ 2 เพื่อส่งเสริมตกลงความร่วมมือใน 9 สาขาหลัก ได้แก่
- ภาษีเงินฝาก /taxation of savings
- ความร่วมมือด้านการต่อต้านการฟอกเงิน / The Co-operation in the Fight Against Fraud
- การเข้าร่วมของสวิตเซอร์แลนด์ในกฎระเบียบ Schengen / The Association of Switzerland to the Schengen Acquis ซึ่งเกี่ยวกับการตรวจลงตรา หรือวีซ่า
- การเข้าร่วมของสวิตเซอร์แลนด์ในกฎระเบียบ “Dublin” and “Eurodac” / Participation of Switzerland in the “Dublin” and “Eurodac” Regulations ซึ่งเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย (asylum)
- การค้าด้านเกษตร โดยเฉพาะความร่วมมือในการเปิดเสรีทางการค้าสินค้าเกษตรแปรรูป / Trade in Processed Agricultural Products
- ด้านสิ่งแวดล้อมและการเข้าร่วมของสวิตเซอร์แลนด์ใน European Environment Agency และ European Environment Information & Observation Network (EIONET) - ความร่วมมือด้านสถิติ / Statistical Co-operation
- ด้านสารสนเทศ / Swiss Participation in the Media Plus and Media Training Programs
- ความร่วมมือเพื่อหลีกเลี่ยงการเก็บภาษีซ้อนสำหรับบุคคลผู้รับบำนาญ / the avoidance of double taxation for pensioners of the Community institutions
ความตกลงข้างต้นที่ได้รับการให้สัตยาบันและเริ่มใช้แล้ว ได้แก่ ด้านการเกษตร (1 ก.พ. 2005) ด้านภาษี (1 ก.ค. 2005) และด้านความร่วมมือเพื่อหลีกเลี่ยงการเก็บภาษีซ้อนสำหรับบุคคลผู้รับบำนาญ (1 ม.ค. 2006) สำหรับกระบวนการการให้สัตยาบันความตกลงในสาขาที่เหลือยังติดขัดบางประการ โดยเฉพาะในประเด็นการให้เงินสนับสนุนของสวิตเซอร์แลนด์ในเพื่อช่วยเหลือประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปใหม่ (Contribution of Switzerland to reduction of the economic and social disparities in the enlarged EU) เป็นจำนวน 1 พันล้านยูโรเป็นระยะเวลา 5 ปี เนื่องจาก สหภาพยุโรปเห็นว่าสวิตฯ จะได้รับประโยชน์จากการขยายสมาชิกสหภาพยุโรปด้วยเช่นกัน เศรษฐกิจและการค้า ความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างสวิตเซอร์แลนด์และสหภาพยุโรปนั้นเหนียวแน่นอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกันด้วย ในปี 2002 สหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของสวิตเซอร์แลนด์ การค้ากับสหภาพยุโรปคิดเป็น 61% ของการนำเข้าและ 71% ของการส่งออกของสวิตเซอร์แลนด์
สวิตเซอร์แลนด์นับเป็นคู่ค้าสำคัญลำดับที่ 3 ของสหภาพยุโรป ในปี 2003 คิดเป็นจำนวน 58.7 พันล้านยูโร สำหรับการนำเข้า และ 71 พันล้านยูโรสำหรับการส่งออก มีความสำคัญใกล้เคียงกับคู่ค้าอันดับต้นๆ ของสหภาพยุโรป อาทิ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น รัสเซีย สวิตเซอร์แลนด์ Distribution Centre ในกลางสหภาพยุโรป ในฐานะที่อยู่ใจกลางสหภาพยุโรป สวิตฯ มีความสำคัญในฐานะ Distribution/Redistribution Centre สำหรับการค้าสินค้าภายระหว่างประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป นาย Trautmann อธิบายเพิ่มเติมว่า การค้าระหว่างสวิตเซอร์แลนด์กับสหภาพยุโรปมีความคล่องตัวเป็นอย่างยิ่ง สินค้าที่ผลิตในยุโรปสามารถส่งจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปผ่านสวิตเซอร์แลนด์ไปยังประเทศสมาชิกอีกประเทศหนึ่งได้โดยไม่เสียภาษี (Corporate Tax) ซึ่งเป็นการอำนายความสะดวกทางการค้าระหว่างกัน อย่างมาก
ในขณะเดียวกัน ประเทศที่สาม รวมทั้งประเทศไทยยังอาจได้ประโยชน์จากข้อตกลงดังกล่าวเมื่อความตกลงเกี่ยวกับ Conformity Assessment (1999) ปี 1999 ได้รับการปรับปรุงโดยตัด Article 4 เกี่ยวกับแหล่งกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) ออกไป ซึ่งจะส่งผลให้สินค้าจากประเทศไทย(รวมทั้งประเทศที่สามอื่น ๆ) สามารถผ่านจากสหภาพยุโรปเข้าสวิตเซอร์แลนด์ได้โดยไม่เสียภาษี การเสนอเพื่อตัด Article 4 ดังกล่าวออกเป็นส่วนหนึ่งของการปรับปรุงความตกลงใหม่ในปี 2004 อย่างไรก็ดี ประเด็นดังกล่าวยังไม่ได้รับการให้สัตยาบันจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ซึ่งคาดว่าจะไม่ได้เกิดขึ้นรวดเร็วนัก โดยนาย Trautmann ได้แนะนำว่า ประเทศไทยน่าจะพิจารณาใช้ประโยชน์จากความตกลงไทย-สวิตเซอร์แลนด์ได้มากกว่า เนื่องจากเป็นความตกลงที่เอื้อประโยชน์หลายประการแก่ประเทศไทย ประเด็นที่น่าสนใจและผลกระทบต่อประเทศไทย การเข้าร่วมของสวิสเซอร์แลนด์ในความตกลง ‘Schengen’ เพื่อใช้การตรวจลงตราเดียว One Visa แม้สองฝ่ายได้ตกลงกันโดยหลักการในความตกลงปี 2004 แต่ในทางปฏิบัติแล้วนาย Trautmann เน้นว่าโอกาสที่สวิตเซอร์แลนด์จะเริ่มใช้ความตกลง Schengen เพื่อให้มีการตรวจลงตราเดียวกันกับประเทศในกลุ่ม Schengen อื่น ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางผ่านพรมแดนนั้นอาจเป็นหลังปี 2007 (เป็นอย่างเร็วที่สุด หรืออาจเป็นปี 2009) ทั้งนี้ หลักการคือการให้ประเทศสมาชิกใหม่ของสหภาพุโรปเริ่มใช้ให้ได้ทั้งหมดก่อนสวิตเซอร์แลนด์จึงจะเข้าร่วม โดยปัญหา/ข้อจำกัดของปฏิบัติดังกล่าวได้แก่ข้อจำกัดของระบบเก็บข้อมูล Schengen Information System ที่ยังไม่รองรับจำนวนสมาชิกที่มากขึ้นของสหภาพยุโรป อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน นักท่องเที่ยว(ไทย)ที่เดินทางมายังสหภาพยุโรปและมีวีซ่า Schengen multiple entries ที่ยังไม่หมดอายุสามารถผ่านเข้าสวิตเซอร์แลนด์และพำนักอยู่ได้เป็นเวลา 90 วัน โดยไม่ต้องมีวีซ่าสวิส
ความตกลงด้านการเปิดเสรีสินค้าเกษตรแปรรูป Processed Agricultural Products ปี 2004 นับเป็นความตกลงที่ส่งผลให้สินค้าเกษตรแปรรูปของผู้ผลิตยุโรป (ที่ผลิตในสหภาพยุโรปเท่านั้น)สามารถผ่านเข้า / ออกระหว่างสวิตเซอร์แลนด์และสหภาพยุโรปได้ในอัตราภาษี 0% ทั้งนี้ เบื้องหลังของความตกลงดังกล่าวได้แก่ความพยายามของสองฝ่ายในการปฎิรูปการเกษตรในสวิตเซอร์แลนด์ให้เปิดเสรีและมีการแข่งขันระหว่างประเทศมากขึ้น ทั้งนี้ ตลาดทางด้านการเกษตรของสวิตเซอร์แลนด์ยังนับว่ายังเป็นระบบปิดอยู่มาก
ความตกลงในสาขาดังกล่าวนับได้ว่าส่งสัญญาณอันดี และประเทศไทยอาจมีโอกาสในตลาดสวิตฯมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากการยกเลิกกฎเกณฑ์เรื่อง Rules of Origin แล้ว เมื่อประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปให้สัตยาบันความตกลงเกี่ยวกับ Conformity Assessment ข้างต้น ซึ่งตลาดสวิสจะมีความเป็นหนึ่งเดียวกับตลาดสหภาพยุโรปมากขึ้น โดยประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นหลักที่ไทยน่าจับตาสำหรับสินค้าเกษตรแปรรูปในอนาคต Single European Sky สวิตเซอร์แลนด์เป็นสมาชิกของ Eurocontrol โดยที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป และ Eurocontrol และคณะกรรมธิการยุโรปเป็นหน่วยงานที่ผลักดันการมีน่านฟ้าเดียวในสหภาพยุโรปหรือ Single European Sky เพื่ออำนวยความสะดวกในเรื่องเส้นทางการบิน สายการบินไทยอาจได้ประโยชน์จากการเปิดเส้นทางการบินใหม่ ๆ ระหว่างสวิตเซอร์แลนด์และประเทศสหภาพยุโรปอื่น ๆ เมื่อความตกลงเรื่องการมีน่านฟ้าเดียวของสหภาพยุโรปเริ่มใช้ ซึ่งรวมสวิตเซอร์แลนด์อยู่ด้วย พลังงาน สวิตเซอร์แลนด์มีความสามารถในการใช้พลังงานน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า โดยสวิตเซอร์แลนด์มีนโยบายในการซื้อพลังงานนิวเคลียร์ที่ราคาถูกกว่าจากฝรั่งเศส สำหรับการใช้ภายในประเทศ แต่ผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำจำหน่ายประเทศสหภาพยุโรปอื่น โครงการกาลิเลโอ โครงการกาลิเลโอ เป็นโครงการสำคัญของสหภาพยุโรป ในการใช้ระบบดาวเทียมในการบอกพิกัดตำแหน่งซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับ GPS หรือ Global Positioning System (GPS) ของสหรัฐอเมริกา และ GLONASS ของรัสเซีย โครงการกาลิเลโอเป็นความร่วมมือระหว่าง European Space Centre และคณะกรรมาธิการยุโรป โดยแม้จะไม่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป สวิตเซอร์แลนด์ซึ่งเป็นสมาชิกของ European Space Centre ก็สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ดังกล่าวได้ นอกจากนั้น นาย Trautmann แสดงความคิดเห็นว่า ด้วยอำนาจการต่อรองดังกล่าวสวิตเซอร์แลนด์สามารถได้รับเทคโนโลยีใหม่ ๆ จากประเทศสหภาพยุโรปอื่น ๆ ได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกสหภาพ อีกทั้ง ยังมีเสรีภาพพอในการถ่ายทอด/จำหน่ายเทคโนโลยีเหล่านั้นให้แก่ประเทศที่สามได้ อาทิเช่น การนำเทคโนโลยีบางอย่างไปขายให้จีน ตัดหน้าสหภาพยุโรป ซึ่งทำให้สมาชิกสหภาพยุโรป ไม่พอใจเป็นอย่างมาก ทิศทางของความสัมพันธ์ในอนาคต แม้ในอดีตในช่วงปี ค.ศ.1960-1990 อาจกล่าวได้ว่าสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งเคยมีเศรษฐกิจที่ดีมากที่สุดประเทศหนึ่งได้สูญเสีย Dynamism ในด้านเศรษฐกิจไปพอสมควร โดยไม่สามารถไล่ตามเศรษฐกิจโดยรวมของยุโรปหลังการรวมตัวเป็นสหภาพยุโรปได้ทัน ที่ผ่านมาภาคธุรกิจจึงเป็นกลุ่มผลประโยชน์หลักที่มักผลักดันให้รัฐบาลสวิสหันหน้าเข้าหาสหภาพยุโรปให้มากขึ้นและสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปอีกครั้ง โดยเน้นว่าการที่สวิตเซอร์แลนด์เป็นสมาชิกสหภาพยุโรปอย่างเต็มตัวจะเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจพัฒนายิ่งขึ้น (โดยดูจากรณีตัวอย่างของออสเตรียซึ่งมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจแบบกึ่งปิดคล้ายคลึงกับสวิตเซอร์แลนด์ หลังจากเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปเศรษฐกิจพัฒนาขึ้นไปในทิศทางที่ดี) อย่างไรก็ดี รัฐบาลสวิสเองยังคงสงวนท่าทีเดิมและมีแนวโน้มรับฟังมติประชาชนสวิสอยู่ในขณะนี้
อีกทั้ง ความตกลงในสาขาสำคัญต่างๆในปี 2004 ได้ช่วยแก้ไขปัญหาสำหรับภาคธุรกิจสวิสได้เกือบทุกด้านแล้ว ดังนั้น นาย Trautmann คาดการณ์ว่า ด้วยเหตุผลจากฝ่ายการเมืองสวิตเซอร์แลนด์คงจะไม่พิจารณาการสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปอีกเป็นแน่ ทั้งนี้ หากพิจารณาอำนาจที่ต่อรองที่เหนือกว่าและฐานะที่เท่าเทียมของสวิตเซอร์แลนด์ในเวทีระหว่างประเทศและในองค์กรระหว่างประเทศอื่น ๆ ข้างต้น สวิตเซอร์แลนด์คงจะดำเนินนโยบายแบบคงตัว คือคงความสัมพันธ์ที่แนบแน่นและใกล้ชิดกับสหภาพยุโรป โดยการใช้ความตกลงทวิภาคีในสาขาต่าง ๆ เป็นการสร้างการ บูรณาการให้เข้าใกล้สหภาพยุโรปมากยิ่งขึ้น แต่เฉพาะทางอ้อมเท่านั้น แต่ทั้งนี้ สวิตเซอร์แลนด์ ดูเหมือนจะมีอำนาจต่อรองเหนือสหภาพยุโรป และคาดว่าจะเช่นนี้ต่อไปสำหรับการดำเนินความสัมพันธ์ในอนาคต ข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับความสัมพันธ์สวิตเซอร์แลนด์-สหภาพยุโรป
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น