ข้อดีและข้อเสียของการสละสัญชาติไทยเพื่อเข้าถือสัญชาติอื่น กรณีสมรสกับคนต่างด้าว 1. ข้อดีการเข้าถือสัญชาติตามคู่สมรสต่างชาติ 1.1 ทำให้สามีภรรยา ซึ่งเป็นบุคคลในครอบครัวถือสัญชาติเดียวกัน 1.2 สามีหรือภรรยาตามกฎหมายมีสิทธิได้รับความคุ้มครองหรือได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายของประเทศของคู่สมรส ในฐานะคนสัญชาติประเทศนั้น 2. ข้อควรระวัง กฎหมายสัญชาติของต่างประเทศจะกำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะขอถือสัญชาติของประเทศนั้นๆ ต้องสละสัญชาติเดิมก่อน โดยเฉพาะการถือสัญชาติโดยการสมรส ในทางปฏิบัติ ขั้นตอนการอนุมัติให้เข้าถือสัญชาติต้องใช้เวลาในการดำเนินการ บางกรณีการสมรสอาจสิ้นสุดลงก่อนที่หญิงไทยจะได้รับอนุมัติให้ถือสัญชาติของคู่สมรส การขาดจากการสมรสทำให้หญิงไทยขาดคุณสมบัติที่จะถือสัญชาติตามคู่สมรสที่เป็นต่างชาติ ประกอบกับการสละสัญชาติไทยมีผลตามกฎหมายแล้ว ในกรณี เช่นว่านี้จะมีผลทำให้หญิงไทยตกอยู่ในสภาวะเป็นบุคคลไร้สัญชาติได้ ดังนั้น ก่อนที่จะตัดสินใจสละสัญชาติ จึงควรศึกษากฎหมายสัญชาติและขั้นตอนการดำเนินการตามกฎหมายของประเทศนั้นให้เข้าใจก่อน 3. ผลทางกฎหมายกรณีสละสัญชาติไทยเพื่อเข้าถือสัญชาติของสามี เมื่อมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้บุคคลใดเสียสัญชาติไทย โดยผลของกฎหมาย การเสียสัญชาติไทยจะทำให้บุคคลดังกล่าวมีสถานะเป็น "บุคคลต่างด้าว" การมีสถานะเป็นบุคคลต่างด้าวจะมีผลตามกฎหมายไทย ดังนี้ 3.1 กระทรวงมหาดไทยจะตัดชื่อผู้ที่เสียสัญชาติไทยออกจากทะเบียนราษฎร์ ทำให้ไม่มีหลักฐานแสดงความเป็นคนไทยอีกต่อไป อาทิ จะไม่สามารถถือบัตรประจำตัวประชาชนและหนังสือเดินทางไทย 3.2 การเดินทางกลับประเทศไทยต้องถือหนังสือเดินทางของประเทศที่ตนถือสัญชาติ ต้องขอรับการตรวจลงตรา และสามารถพำนักอยู่ในประเทศไทยได้ตามระยะเวลาที่กฎหมายไทยอนุญาตเท่านั้น 3.3 เนื่องจากผู้ที่เสียสัญชาติไทยมีสถานะเป็นบุคคลต่างด้าว หากตกทุกข์ได้ยากหรือประสบความเดือดร้อนระหว่างอาศัยอยู่ในต่างประเทศ ไม่ว่ากรณีใดๆ สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ไทยไม่สามารถให้ความคุ้มครองดูแลช่วยเหลือตามกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายไทยต้องขอความช่วยเหลือจากทางการของประเทศที่ตนมีสัญชาติเท่านั้น 3.4 สิทธิและหน้าที่สำหรับความเป็นคนไทยสิ้นสุดลง โดยไม่ได้รับการปกป้องสิทธิตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 อาทิ หมดสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งและการสมัครรับเลือกตั้ง หมดสิทธิเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง 3.5 การประกอบอาชีพอิสระในประเทศไทยต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ปี พ.ศ. 2542 3.6 การทำงานในประเทศไทยต้องเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว ปี พ.ศ. 2551 3.7 การถือครองที่ดินต้องเป็นไปตามประมวลกฏหมายที่ดิน ซึ่งกำหนดว่า " คนต่างด้าว ที่ต้องการถือครองที่ดินในประเทศไทย จะต้องนำเงินมาลงทุนในประเทศไทยตามจำนวนที่กำหนดในกฎกระทรวงมหาดไทยไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท และต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวง มหาดไทย จึงจะสามารถถือครองที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยได้ไม่เกิน 1 ไร่ 3.8 การถือครองอาคารชุดต้องเป็นไปตาม พรบ. อาคารชุด นอกจากนี้แล้ว สิทธิและหน้าที่ของบุคคลต่างด้าวในเรื่องอื่นๆ ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติสัญชาติฯ ชายหรือหญิงที่ได้สละสัญชาติไทยเพื่อเข้าถือสัญชาติอื่นตามคู่สมรส หากการสมรสสิ้นสุดลง กฎหมายไทยกำหนดให้บุคคลฯ ดังกล่าวมีสิทธิขอกลับคืนสัญชาติไทยได้ โดยยื่นคำขอต่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง พร้อมแสดงหลักฐานประกอบ อาทิ หากมีผู้ลำเนาอยู่ในจังหวัดพระนครหรือธนบุรี ให้ยื่นต่อผู้บังคับการตำรวจสันติบาล หากผู้มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดอื่น ให้ยื่นต่อผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนั้น และหากมีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศ ให้ยื่นต่อพนักงานทูตหรือกงสุล ณ ที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตไทยหรือสถานกงสุลใหญ่ไทยในประเทศนั้น . |
เว็บไซต์นี้...จัดทำขึ้นด้วยความมุ่งหวังที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการเผยแพร่ และแลกเปลี่ยนความรู้ การพัฒนาตนเอง จากการค้นคว้า นำมาเผยแพร่สาธารณะชนและแบ่งปันประสบการณ์ เพื่อเป็นประโยชน์แด่ผู้สนใจทุกคนค่ะ
วันเสาร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2554
ข้อดีและข้อเสียของการสละสัญชาติไทย
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น