วันเสาร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ศาลาไทย เมืองโลซาน สวิตเซอร์แลนด์

ศาลาไทย เมืองโลซาน สวิตเซอร์แลนด์
เมื่อวันอังคารที่ ๑๗ มีนาคม ๒๐๐๙ สมเด็จพระเทพราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทรงเป็นประธานในพิธีเปิด “ศาลาไทย” ณ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ศาลาไทย” แห่งนี้ ตั้งอยู่ที่สวนสาธารณะเดอน็องตู (Denantou) เขตอชชี่ (Ouchy) เมืองโลซาน สมาพันธรัฐสวิส ที่สร้างขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และเพื่อเฉลิมฉลองวาระสำคัญในปี ๒๕๔๙ สองวาระ คือ วโรกาสที่พระบาทสมสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ พรรษา และการดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสมาพันธรัฐสวิสครบ ๗๕ ปี

กระทรวงการต่างประเทศและสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น ได้เลือกเมืองโลซานเป็นสถานที่ตั้งศาลาไทย เนื่องจากเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย – สวิส ด้วยเป็นสถานที่ๆพระมหากษัตริย์ไทยสองพระองค์ รัชกาลที่ ๘ และรัชกาลที่ ๙ ประทับ พร้อมด้วยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในช่วงปี ๒๔๗๖ – ๒๔๙๔ เป็นเวลาถึง ๑๘ ปี ก่อนเสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นการถาวร
เทศบาลเมืองโลซานได้อนุญาตให้รัฐบาลไทยก่อสร้างศาลาไทยในพื้นที่สวนสาธารณะเดอน็องตู โดยเป็นโครงการร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทย โดยกระทรวงการต่างประเทศไทย สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น และเทศกาลเมืองโลซาน
รัฐบาลไทย โโยกระทรวงการต่างประเทศ ได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างศาลาไทยดังกล่าว โดยได้รับความอนุเคราะห์จากกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ดำเนินการด้านออกแบบและก่อสร้าง
โครงการก่อสร้างศาลาไทยมีดำริริเริ่มขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๐ โดยนายดอน ปรมัตถ์วินัย อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น และมีการสานต่อโครงการฯเรื่อยมา จนสามารถดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนกันยายน ๒๕๕๐



สถาปนิกผู้ออกแบบศาลาไทยหลังนี้ คือ นาวาอากาศเอกอาวุธ เงินชูกลิ่น อดีตอธิบดีกรมศิลปากรและศิลปินแห่งชาติ โดยมีนายก่อเกียรติ ทองผุด เป็นนายช่างศิลปกรรม นายเสกสรรค์ ปัญญารัมย์ เป็นนายช่างเขียนแบบ และนายสุทิน เจริญสวัสดิ์ เป็นวิศวกร
ลักษณะของศาลาไทย ณ เมืองโลซาน เป็นศาลาไม้แบบจตุรมุข มียอดมณฑป ขนาดกว้าง ๖ เมตร ยาว ๖ เมตร สูง ๑๖ เมตร น้ำหนัก (เฉพาะตัวศาลา) ประมาณ ๒๗,๐๐๐ กิโลกรัม ก่อสร้างด้วยไม้เนื้อแข็งและไม้สัก ตามลักษณะการก่อสร้างงานสถาปัตยกรรมไทยแบบโบราณ มีความเป็นเลิศด้านสถาปัตยกรรมและงานช่างไทย ประกอบด้วย งานเข้าไม้ งานจำหลักลาย งานปิดทองประดับกระจก งานเขียนลายรดน้ำ เป็นต้น งานก่อสร้างศาลาไทยทั้งหลังและการทำพื้นฐาน และบันไดด้วยหินแกรนิต เป็นความรับผิดชอบของผู้ดำเนินการก่อสร้างฝ่ายไทย โดยนำหินทั้งหมดมาจากประเทศไทยด้วย

สมาพันธรัญสวิส (เทศบาลเมืองโลซาน) เป็นผู้รับผิดชอบงานก่อสร้างฐานซีเมนต์ งานปรับพื้นที่และภูมิทัศน์ การติดตั้งกล้องวงจรปิดรักษาความปลอดภัย เครื่องตรวจจับควันไฟ ตลอดจนระบบแสงและไฟฟ้า และการดูแลศาลาไทยภายหลังการก่อสร้างเสร็จสิ้นแล้ว
นับตั้งแต่การก่อสร้างเสร็จสิ้น ศาลาไทยได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมแห่งใหม่ของเมืองโลซาน นักท่องเที่ยวทั้งชาวสวิสและชาติอื่นๆ รวมทั้งชาวไทย ต่างพากันเดินทางมาชมศาลาไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์




.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น